ทุกวันนี้กับการใช้ชีวิตประจำวันอาจทำให้เรามีพฤติกรรมบางอย่างที่เสี่ยงกับการเป็นริดสีดวงทวารโดยไม่รู้ตัว ซึ่งพฤติกรรมหลักๆ ที่กระตุ้นให้เกิดอาการริดสีดวงทวารมักส่งผลไปที่ระบบขับถ่าย ทำให้การขับถ่ายผิดปกติไปจนเกิดเป็นอาการริดสีดวงทวารขึ้นมา หากเราทำพฤติกรรมทั้ง 5 นี้เป็นประจำ สิ่งที่อาจตามมาได้คืออาการริดสีดวงทวาร วันนี้ปุณรดายาไทยจะมาชวนสำรวจพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของตัวเอง ว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายหรือไม่ และจะแก้ไขพฤติกรรมเหล่านั้นได้อย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้ริดสีดวงทวารตามมาภายหลัง แต่ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับสิ่งกระตุ้นสำคัญของอาการนี้กันก่อนเลยดีกว่าค่ะ
สิ่งสำคัญที่ก่อให้เกิดอาการริดสีดวงทวาร คือ ระบบขับถ่ายที่ผิดปกติไป ทั้งท้องผูก หรือท้องเสีย เป็นการเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อภายในทวารหนัก และทางศาสตร์แผนไทยมองหลักการทำงานของธาตุทั้ง 4 เป็นสำคัญ ว่าสิ่งกระตุ้นสำคัญที่ทำให้เกิดอาการคือ ธาตุไฟ ธาตุลม และธาตุน้ำที่ผิดปกติไป พฤติกรรมใดที่ทำให้ธาตุทั้ง 4 เหล่านี้เปลี่ยนแปลงมากเกินไป ธาตุเกิดการกำเริบ หรือหย่อนลง ล้วนเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นริดสีดวงทวารด้วยกันทั้งหมด
การนั่งอยู่ในท่าเดิมเป็นระยะเวลานานติดต่อกันมากเกิน 1-2 ชม. โดยไม่ได้ลุกออกจากที่นั่งเลยจะส่งผลให้เลือดลมไหลเวียนได้ไม่ดี ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลมไหลเวียนผิดปกติ ของเสียต่างๆ เกิดการสะสมและกดทับไปที่บริเวณลำไส้ และทวารหนักโดยตรง ทำให้ระบบย่อยอาหาร และระบบการขับถ่ายไม่ดี จึงทำให้เกิดอาการท้องผูก ขับถ่ายไม่สุด ท้องอืดจุกแน่นท้องหรือสังเกตง่ายๆ คือท้องน้อยเริ่มป่องออก เป็นสัญญาณเตือนว่าเริ่มมีของเสียคั่งค้างมากอยู่ภายใน ที่ไม่ถูกขับออกจากร่างกาย หากสังเกตได้ว่าเราเริ่มมีอาการเหล่านี้ หรือมีพฤติกรรมที่ต้องนั่งจดจ่ออยู่กับงานที่ทำเป็นเวลานานเกินไป ควรเปลี่ยนลุกขึ้นมายืนหรือเดินไปเข้าห้องน้ำ หรือออกไปผ่อนคลายนอกโต๊ะทำงานบ้าง ทุกๆ 1-2 ชม. เพื่อให้เลือดลมไหลเวียนได้ดี กระเพาะอาหารและลำไส้ได้มีการเคลื่อนไหว ทำให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายทำงานได้ดีมากขึ้น
เช่นเดียวกันกับการยืนอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานานติดต่อกัน เช่น ยืนอยู่ในรถไฟฟ้า รถสาธารณะ ที่ต้องมีการเกร็งช่องท้องและช่วงล่างเพื่อทรงตัวให้อยู่ หรือการทำงานค้าขายที่ต้องเดินขายของนานๆ ทำให้ธาตุไฟและธาตุลมทำงานหนัก เกิดแรงดันในช่องท้องมากขึ้น ร่วมกับเลือดไหลเวียนลงไปที่ร่างกายส่วนล่างเป็นส่วนใหญ่และไหลเวียนกลับขึ้นมาได้ยากตามแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้เกิดแรงดันเลือดในหลอดเลือดดำบริเวณรูทวาร ไหลกลับสู่หลอดเลือดดำในช่องท้องช้าลง เมื่อการไหลของเลือดดำช้าลงประกอบกับมีความดันในช่องท้องสูง จึงเกิดการคั่งของเลือดที่บริเวณกลุ่มหลอดเลือดบริเวณทวารหนัก ส่งผลให้กลุ่มหลอดเลือดดำโป่งพองจนเกิดอาการของโรคริดสีดวงทวารได้ วิธีการสังเกตง่ายๆ ว่าเรายืนนานเกินไป คือ เริ่มปวดเมื่อยขา เข่า เอ็นร้อยหวาย หน้าเท้า ส้นเท้า หรือที่เรียกง่ายๆ ว่าเส้นตึง เส้นยึด หรือเริ่มมีอาการเท้าบวม ขาบวม เป็นสัญญาณเตือนที่บอกว่าเลือดลมไหลเวียนไม่ดี เริ่มเกิดการสะสม คั่งค้างของเลือดแล้ว แนะนำให้สลับนั่งพัก และเดินไปเดินมาบ้าง ทุกๆ 1-2 ชม. จะช่วยกระจายเลือดลมไม่ให้คั่งค้างได้ค่ะ
การนั่งเข้าห้องน้ำนานๆ หรือการนำเครื่องมือสื่อสารเข้าไปใช้ นำหนังสือเข้าไปอ่านในระหว่างขับถ่าย จะทำให้เราเข้าห้องน้ำนานขึ้น นั่งอยู่บนชักโครกนานขึ้นโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้เลือดลมไหลเวียนไม่ดี ธาตุลมและธาตุน้ำไม่สามารถพัดพาอุจจาระออกมา และทำให้ขับถ่ายได้ยากมากขึ้น จนในครั้งถัดไปอาจจะต้องมีการเบ่งถ่ายตามมา วิธีการสังเกตง่ายๆว่าเราเข้าห้องน้ำนานเกินไปหรือไม่ คือเรานั่งชักโครกโดยที่ไม่ได้มีอาการปวดถ่ายแล้วนั่งนานเกิน 10-15 นาที หรือขาเริ่มชา แต่ไม่ได้ขับถ่ายออกมาเลย แสดงว่าเรานั่งนานเกินไปแล้ว และควรปรับเปลี่ยนเป็นการเข้าห้องน้ำเมื่อปวดถ่ายจริง ๆ และไม่นำอุปกรณ์ เครื่องมือสื่อสาร หรือหนังสือเข้าไปด้วย
การเบ่งถ่ายเป็นประจำ การเบ่งถ่ายอุจจาระทุกครั้งจะทำให้ธาตุลมและธาตุไฟในร่างกายทำงานหนักมากขึ้น เส้นเลือดบริเวณรูทวารพองนูนออกมาจากการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง เพื่อดันและขับก้อนอุจจาระที่สะสมภายในลำไส้ออกมา หากเราเบ่งถ่ายเป็นประจำ จะทำให้เส้นเลือดรูทวารโป่งพองมากจนยุบหรือหดกลับได้ยาก ร่วมกับการนั่งนานจะยิ่งทำให้เลือดไหลไปกระจุกอยู่บริเวณที่หลอดเลือดโป่งพอง ทำให้เกิดเป็นติ่งริดสีดวงทวารยื่นออกมาได้ วิธีการแก้ไขคือให้จิบน้ำระหว่างวันให้มากขึ้น ดื่มน้ำอุ่นหลังตื่นนอนทันที 1-2 แก้ว จะช่วยให้ปวดถ่ายได้เอง และช่วยให้ก้อนอุจจาระนิ่มลง ขับออกมาได้ง่ายขึ้นโดยที่ไม่ต้องเบ่งถ่ายเลยค่ะ
การทานอาหารสจัด ทั้งเผ็ด เปรี้ยว เค็ม ของทอดของมันเป็นประจำ อาหารเหล่านี้จะไปกระตุ้นธาตุไฟให้ทำงานหนักมากขึ้น และมีสารกระตุ้นการอักเสบและระคายเคืองเนื้อเยื่อในระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายได้ ส่งผลทำให้เกิดอาการท้องผูก หรือท้องเสียได้ง่าย หากทานอาหารเหล่านี้มากเกินไป มีอาการท้องผูกสลับท้องเสียบ่อยจะยิ่งทำให้เนื้อเยื่อบริเวณทวารหนักได้รับความเสียหาย หลอดเลือดโป่งพองออกได้ง่ายมากขึ้น จนเป็นติ่งริดสีดวงทวารในที่สุด หากเลี่ยงการทานอาหารรสจัดมาก ของทอดของมันได้ นานๆ ทานครั้ง และทานแต่น้อย จะทำให้ระบบย่อยอาหารของเราทำงานได้เป็นปกติ ไม่มีอาการท้องผูกหรือท้องเสียตามมา
การดื่มน้ำน้อยในแต่ละวัน เพราะน้ำเป็นส่วนประกอบของร่างกายถึง 70% ถ้าหากร่างกายได้รับน้ำในปริมาณที่ไม่เพียงพอ ร่างกายจะมีความร้อนมากขึ้นจากการขาดน้ำ ธาตุน้ำในร่างกายเสียสมดุลโดยเฉพาะสมดุลของกระบวนการย่อยอาหาร และการขับถ่าย ทำให้การขับของเสียออกจากร่างกายยากมากขึ้น จนเกิดการสะสมเป็นก้อนขนาดใหญ่ และทำให้เกิดอาการท้องผูก ต้องเบ่งถ่ายตามมาในที่สุด วิธีการแก้ไขคือควรจิบน้ำเปล่าเรื่อยๆ ทั้งวัน ให้ได้วันละ 2-3 ลิตร เพื่อให้ร่างกายค่อยๆ ดูดซึมเข้าไปในระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ทำให้น้ำสามารถเข้าไปดึงของเสียตามร่างกายออกมาและขับออกให้ได้มากที่สุด โดยที่ไม่มีอาการท้องผูก ใช้เวลาขับถ่ายไม่นาน ถ่ายเป็นปกติทุกวัน และไม่ต้องใช้แรงในการเบ่งถ่าย
หากการทำงานของคุณในแต่ละวันมีแต่ความเร่งรีบไปทำงาน จนลืมที่จะเข้าห้องน้ำตอนเช้าและกลั้นอุจจาระไปอีกตลอดทั้งวัน หรือเมื่อปวดระหว่างวันแต่ไม่สามารถไปเข้าห้องน้ำได้ จากงานที่เร่งสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ไม่สะดวกเข้าตอนนั้นหรือด้วยเหตุผลใดก็ตาม การกลั้นอุจจาระจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธาตุลมที่ปกติจะมาทุกครั้งตอนที่ปวดถ่ายเกิดการอัดอั้น ธาตุไฟไม่ถูกกระจายออกไป กระตุ้นการอักเสบบริเวณทวารหนัก และการกลั้นไว้จะทำให้ของเสียถูกดูดกลับเข้าไปในร่างกาย น้ำภายในก้อนอุจจาระจะถูกดูดซึมกลับไปใหม่ ทำให้ก้อนอุจจาระแข็งและแห้งมากขึ้นเรื่อยๆ จนสะสมเป็นก้อนใหญ่มากขึ้น และจะยิ่งขับออกไปได้ยาก จนเกิดเป็นอาการท้องผูกเรื้อรังเสี่ยงที่จะเกิดอาการริดสีดวงทวาร ดังนั้นจึงไม่ควรกลั้นอุจจาระบ่อยๆ ควรเผื่อเวลาหลังตื่นนอนเพื่อขับถ่ายในช่วงเวลา 05.00 – 07.00 น. เพราะในช่วงเวลานี้คือช่วงที่ลำไส้ใหญ่ทำงานได้ดีมากที่สุด หากดื่มน้ำอุ่น 1-2 แก้วหลังตื่นนอนแล้วได้ขับถ่ายในช่วงเวลานี้จะทำให้ขับถ่ายง่าย ลำไส้ขับของเสียต่าง ๆ ที่คั่งค้างอยู่ออกมาได้หมด ไม่เกิดอาการท้องผูกตามมา
การออกกำลังกายโดยการยกเวท หรือเวทเทรนนิ่ง จะต้องมีการเกร็งกล้ามเนื้อ เพื่อเป็นการเสริมสร้างกล้ามเนื้อและดึงพลังงานออกมาใช้ แต่การเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง สะโพก อุ้งเชิงกราน หรือเกร็งกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักนานๆ ติดต่อกันทุกวัน โดยที่ไม่มีช่วงพัก รวมถึงการยกของหนักเป็นประจำในลักษณะงานต่างๆ ที่ต้องใช้แรงดันจากช่องท้องมาช่วย จะทำให้เกิดแรงดันในช่องท้องมากขึ้น สะสมเป็นแรงดันในหลอดเลือดดำบริเวณปากรูทวารและเกิดการคั่งค้างของกลุ่มเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดดำโป่งพองจนเกิดอาการของโรคริดสีดวงทวารได้ ดังนั้นหากต้องการออกกำลังกายด้วยการยกเวท ควรเว้นวันให้ร่างกายมีวันได้พักกล้ามเนื้อช่วงท้องและกล้ามเนื้อส่วนล่างบ้าง สลับกับการเล่นกล้ามเนื้อส่วนบนหรือการออกกำลังแบบอื่นๆ จะทำให้ไม่เกิดแรงดันในช่องท้องมากจนเกินไป และถ้าหากทำงานยกของหนักเป็นประจำ ไม่ควรยกของหนักภายในครั้งเดียว ควรแยกชิ้นยกหลายครั้ง ครั้งละน้อย และพักการยกของหนักทุกๆ 10 นาที หายใจเข้าออกช้าๆ ลึกๆ ให้ทั่วท้อง เพื่อลดแรงดันที่เกิดขึ้นมาได้
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ท่านใดที่พบว่ามีพฤติกรรมบางอย่างที่ตรงกับ 5 ข้อนี้ และปฏิบัติอยู่เป็นประจำ ควรหันมาให้ความสนใจกับการเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านี้ให้มากขึ้น เพื่อเป็นการดูแลระบบย่อยอาหาร และระบบการกำจัดของเสีย ให้การขับถ่ายเป็นปกติ ก็จะห่างไกลจากโรคริดสีดวงทวารได้แน่นอนค่ะ ปุณรดายาไทยพร้อมให้คำปรึกษา และขอเป็นกำลังใจ พร้อมเคียงข้างให้ทุกท่านได้เริ่มต้นดูแลสุขภาพจากภายใน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆ รักษาสุขภาพกันด้วยนะคะ
สามารถปรึกษากับพวกเรา Poonrada Yathai ได้เสมอนะคะ (ปรึกษาฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ)
LINE ID: @Poonrada
TEL: 086-955-6366, 091-546-9415
ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร
"สมุนไพร คือ ของขวัญจากธรรมชาติ เราจึงตั้งใจมอบสมุนไพรที่ดีที่สุด ให้ถึงมือคุณ"
แพทย์แผนไทย
" ความมั่งคั่งที่แท้จริง จะเกิดขึ้นได้ เมื่อเรามีสุขภาพกายและใจที่ดี สมดุล แข็งแรง "