กัญชา รักษาอะไรได้บ้าง?

วิธีดูแลสุขภาพตามหลักแพทย์แผนไทย

กัญชา รักษาอะไรได้บ้าง?

“กัญชา” ถือเป็นสุดยอดสมุนไพรอีกชนิดหนึ่ง ที่กำลังเป็นที่นิยม นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในขณะนี้

 

หลังจากที่กัญชาผ่านการปลดล็อคในไทย และสามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ เนื่องจากกัญชามีประโยชน์และสรรพคุณมากมายที่จะนำมาทดลองวิจัย และพัฒนาต่อยอดกันต่อไป วันนี้หมออยากยกสรรพคุณโดยรวมของสมุนไพรชนิดนี้ขึ้นมา เพื่อชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ในการรักษาโรค เพียงแค่เลือกใช้ให้ถูกส่วน ใช้ให้ถูกสารสำคัญ และใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์แผนไทยเพื่อกำหนดวิธีการใช้ ปริมาณในการใช้ และใช้ให้ถูกกับอาการ ก็จะเกิดความปลอดภัยและประโยชน์สูงสุดจากสมุนไพรชนิดนี้ค่ะ

 

กัญชา รักษาอะไรได้บ้าง ?


สำหรับสรรพคุณเด่นของกัญชาตัวเดี่ยว ด้วยฤทธิ์ยาหลัก เป็นรสเมาเบื่อ รสขม เชื่อมโยงไปที่สรรพคุณหลักเลยคือ มีผลต่อระบบประสาท มากน้อยแตกต่างกันไปตามแต่ละส่วนของต้นค่ะ
 

• ส่วนของใบ จะมีสรรพคุณหลักคือ รักษาโรคหอบหืด แก้อักเสบ ระงับปวด ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงกำลัง รักษาอาการจากไข้ผอมเหลือง ไม่มีกำลัง ตัวสั่นเสียงสั่นได้ดี

• ดอกและช่อดอก จะมีสรรพคุณหลักคือ รักษาโรคประสาท ช่วยการนอนหลับ เจริญอาหาร และกัดเสมหะในลำคอ

• เมล็ด สรรพคุณเป็นยาแก้ท้องผูก ในผู้สูงอายุได้ดี 

• ราก สรรพคุณแก้อาการปวดข้อ อักเสบบวมแดงร้อน ผิวหนังพุพอง ภูมิแพ้ต่างๆ

 

ส่วนฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ค้นพบสารสำคัญหลายชนิดอย่างต่ำ 450 ชนิด มีผลออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ระบบการอักเสบในร่างกาย และระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์หลักๆเลย ได้แก่ ฤทธิ์ลดอาการปวด ลดอาการคลื่นไส้อาเจียน แก้ชักเกร็ง ทำให้อยากอาหาร และมีผลยับยั้งเซลล์มะเร็งหลายชนิด

 

ฤทธิ์ยาของกัญชาจะรักษาเด่นไปที่ธาตุลมและธาตุไฟผิดปกติเป็นหลัก เมื่อนำมาเข้าตำรับยา จะสามารถเป็นได้ทั้งตัวยาหลัก ที่ชูเด่นจากสรรพคุณในตัว และเป็นตัวยารอง ที่เสริมการทำงานของยาอื่นๆได้อย่างลงตัวเลยค่ะ วันนี้หมอเลยสรุปและรวบรวมสรรพคุณโดยรวม พร้อมแนะนำตำรับยาแผนโบราณที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบกันนะคะ

 

ในการทำยาไทยเราจะเข้ายาแบบตำรับ คือการใช้สมุนไพรหลายๆตัวมาผสมรวมกันเป็นเสริมฤทธิ์และสรรพคุณทางการรักษา โดยกัญชาเองก็มีสรรพคุณที่โดดเด่น แต่ถ้าอยากให้ได้ตัวยาที่ดี เหมาะสมกับอาการ มีประสิทธิภาพในการรักษาและสำคัญที่สุดคือปลอดภัยต่อคนไข้ จำเป็นต้องนำมาผสมรวมกับสมุนไพรตัวอื่นๆเพื่อให้ได้สรรพคุณที่ครบถ้วน ถ้าเป็นอาหารก็เรียกได้ว่า”กลมกล่อม”วันนี้เลยรวบรวมตำรับยามาฝากทุกคนกันนะคะ


1. “ตำรับสุขไสยาสน์ หรือ ศุขไสยาศน์”

ที่มาของตำรับ: คัมภีร์ธาตุพระนารายณ์ หรือ โอสถพระนารายณ์

สรรพคุณในคัมภีร์: แก้สรรพโรคทั้งปวงหายสิ้น มีกำลัง กินข้าวได้ นอนเป็นสุขนักแล

สรรพคุณโดยย่อ: ช่วยให้นอนหลับ เจริญอาหาร

 

ข้อห้ามใช้

• ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีไข้ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

• ห้ามใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยานอนหลับ และยาต้านการชัก รวมทั้งแอลกอฮอล์ หรือสิ่งที่มี แอลกอฮอล์ผสมอยู่

 

2. “ตำรับยาทำลายพระสุเมรุ”

ที่มาของตำรับ: คัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ เล่ม 2

สรรพคุณในคัมภีร์:แก้ลมจุกเสียด ลมปะทะอก ลมตามืดหูหนัก ปวดหัวมึนตึง ลมเมื่อยขบในร่างกาย ลมสะดุ้งแลสั่นไปทั้งตัว ลมเปรี่ยวดำ แก้จุกผามม้านย้อย มารกะไษย ไส้พองท้องใหญ่ ลมคลั่งเพ้อ ลมอำมะพฤกษ์อำมะพาธ ลมปัตฆาต แก้โรคผิวหนัง ลมชักปากเบี้ยวตาแหก แก้ริดสีดวงทวาร แก้โรคเสมหะโลหิตเรื้อรัง

สรรพคุณโดยย่อ:แก้ลมจุกเสียด เมื่อยขบตามร่างกาย แก้ปวดกล้ามเนื้อ คลายกล้ามเนื้อที่แข็งเกร็งจากโรคลมอัมพฤกษ์ อัมพาต

 

ข้อห้ามใช้

• ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีไข้ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

 

3. “ตำรับน้ำมันสนั่นไตรภพ”

ที่มาของตำรับ:ตำรายาศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, จารึกตำรายา วัดราชโอรสาราวรวิหาร.

สรรพคุณในคัมภีร์: ยาน้ำมันขนานนี้ชื่อ สนั่นไตรภพ แก้กล่อนกระษัยทั้งปวงหายดีนักแลฯ”

สรรพคุณโดยย่อ:แก้กษัยเหล็กเกิดจากลมอัดแน่นแข็งเป็นดานอยู่ในท้องน้อย ทำให้มีอาการเจ็บปวดท้องแข็งลามขึ้นไปถึงยอดอก กินอาหารไม่ได้

 

ข้อห้ามใช้

• ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีไข้ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

 

4. “ตำรับยาอัคนิคณะ  หรือ อัคคินีวคณะ”  

ที่มาของตำรับ: คัมภีร์ธาตุพระนารายณ์ หรือ โอสถพระนารายณ์

สรรพคุณในคัมภีร์: แก้อาเจียน 4 ประการ ด้วยติกกะขาคินีกำเริบ และวิสมามันทาคินีอันทุพล จึงคลื่นเหียนอาเจียน มิให้เสวยพระกระยาหารได้ ให้จำเริญพระธาตุทั้ง 4 ให้เสวยพระกระยาหาร เสวยมีรสชูกำลังยิ่งนัก

สรรพคุณโดยย่อ: แก้คลื่นเหียนอาเจียน ที่เกิดจากการย่อยอาหารผิดปกติ

 

ข้อห้ามใช้

• ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีไข้ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

 

5. “ตำรับยาแก้ลมเบื้องสูง”  

ที่มาของตำรับ: ตำรายาศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

สรรพคุณในคัมภีร์: สิทธิการิยะ จะกล่าวด้วยตำรายาคือวิเศษสรรพคุณสำเร็จ อันอาจารย์เจ้าในก่อนประมวลไว้ ให้แก้สรรพโรคทั้งปวงต่างๆ สืบกันมาฯ

ในที่นี้จะว่าแต่สรรพคุณวิเศษ คือคณะสรรพยาที่จะแก้ซึ่งโรคสรรพลมทั้งปวงอันกำเริบพัดขึ้นเบื้องบนนั้น แก้ลมขึ้นสูงหายดีนักฯ”

สรรพคุณโดยย่อ: แก้ลมขึ้นเบื้องสูง ที่ทำให้มีอาการปวดศีรษะ หน้ามืด มึนงง หูอื้อ ใจสั่น อ่อนเพลีย สวิงสวาย

 

ข้อห้ามใช้

• ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีไข้ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

 

6. “ตำรับยาไฟอาวุธ”  

ที่มาของตำรับ: แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม 1 พระยาพิศณุประสาทเวช ร.ศ. 128

สรรพคุณในคัมภีร์: แก้ตานโจรทั้ง 12 จำพวก แก้หืดน้ำนมทั้ง 7 จำพวก แก้ไอผอมเหลือง แลแก้ไส้พองท้องใหญ่ แก้พุงโรแลลมจุกเสียด แลแก้ป้างแก้ม้ามแก้ดานเสมหะให้ปวดมวนเสียดแทง แก้อุจจาระเปนเสมหะโลหิตระคนกันมักให้ถอยกำลัง มักให้เปนไข้ไม่รู้สึกตัวให้ลงเปนโลหิต แก้ไข้เพื่อเสมหะเพื่อลม”

สรรพคุณโดยย่อ: ลมจุกเสียด ปวดมวนท้อง

 

ข้อห้ามใช้

• ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีไข้ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

 

7. “ตำรับยาแก้ลมเนาวนารีวาโย”  

ที่มาของตำรับ: ตำรายาศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

สรรพคุณในคัมภีร์: “สิทธิการิยะ จะกล่าวลักษณะกำเนิดแห่งลม อันชื่อว่าเนาวนารีวาโย เป็นคำรบ 18 นั้น เกิดแต่ปลายปัตคาดปลายสันทฆาตเจือกันกล่าวคือจับต้นคอเป็นต้นก็ดี ในลำคอก็ดี เหตุว่าแล่นถึงกันมักบังเกิดแก่สตรีทรงครรภ์ กระทำให้ปลายมือปลายเท้า ดุจปลาดุกยอก แล้วขึ้นมาจับเอาต้นคอให้คอแข็ง จะเบือนคอก็มิได้ สมมติว่าคอแข็งแล้วกระทำพิษให้ร้อนเป็นกำลัง อาจารย์ท่านกล่าวไว้ว่าให้กิน 7 วันหายวิเศษนักฯ”

สรรพคุณโดยย่อ: แก้อาการเจ็บแปลบที่ปลายมือปลายเท้า ต้นคอตึงแข็งเกร็ง หันคอไม่ได้

 

ข้อห้ามใช้

• ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีไข้ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

 

8. “ตำรับยาแก้สัณฑฆาต กล่อนแห้ง”  

ที่มาของตำรับ: แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม 2 พระยาพิศณุประสาทเวช ร.ศ. 126

สรรพคุณในคัมภีร์: “จะว่าด้วยโรคสำหรับบุรุษหรือสัตรีก็เหมือนกัน แต่จะว่าด้วยบุรุษนั้นก่อน ถ้าผู้ใดเปนโทษสัณฑฆาฏแลกล่อนแห้ง มักให้ผูกพรรดึกแลลมเสียดแทง ให้เปนลูกเปนก้อนเปนดานในท้องให้เมื่อยขบทั่วสารพางค์ มักให้เจ็บบั้นเอว ให้มือเท้าตายเปนเหน็บชา มักขัดหัวเหน่าน่าตะโพก ตึงสองราวข้างไปจนตลอดทวารหนัก ปัสสาวะเปนโลหิตให้ปวดสีสะวิงเวียนหน้าตา ปากเบี้ยวตาแหกเสียงแห้งเจราไม่ไคร่ได้ยิน จักษุมืดหูหนัก แลจุกเสียดท้องขึ้นแน่นน่าอก เสพย์อาหารไม่มีรศ โรคทั้งนี้เปนเพื่อวาตะ, เสมหะ, โลหิต, กำเริบ เมื่อจะเปนนั้นให้เหม็นเนื้อตัวแลอาหารถอย บางทีให้จับสบัดร้อนสท้านหนาว มักอยากของเปรี้ยวหวานแลเย็น เปนทั้งนี้เพราะโลหิตแห้งติดกระดูกสันหลัง บุรุษแลสัตรีเปนเหมือนกันจะแก้ท่านให้แต่งยานี้

สรรพคุณโดยย่อ: แก้อาการท้องผูก อุจจาระเป็นก้อนแข็งที่ทำให้ปวดเมื่อยทั่วร่างกาย มือชาเท้าชา ปวดศีรษะ หน้ามืดวิงเวียน จุกเสียดท้อง แน่นหน้าอก

 

ข้อห้ามใช้

• ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีไข้ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

 

9. “ตำรับยาแก้นอนไม่หลับ หรือ ยาแก้ไข้ผอมเหลือง”  

ที่มาของตำรับ:แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม 1 พระยาพิศณุประสาทเวช ร.ศ. 128

สรรพคุณในคัมภีร์: “กัญชา แก้ไข้ผอมเหลืองหากำลังมิได้ ให้ตัวสั่นเสียงสั่นเปนด้วยวาโยธาตุกำเริบ แก้นอนมิหลับ ละลายยากินหายแล”

สรรพคุณโดยย่อ: แก้นอนไม่หลับ แก้ไข้ผอมเหลือง ที่มีอาการตัวสั่น เสียงสั่น อ่อนเพลีย ไม่มีกำลัง

 

ข้อห้ามใช้

• ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีไข้ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

• ห้ามใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยานอนหลับ และยาต้านการชัก รวมทั้งแอลกอฮอล์ หรือสิ่งที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่

 

10. “ตำรับยาแก้โรคจิต”  

ที่มาของตำรับ:อายุรเวทศึกษา (ขุนนิทเทสสุขกิจ) เล่ม 2

สรรพคุณในคัมภีร์: “ยาแก้โรคจิต ขนานที่ 1 เอาเปลือกกุ่มน้ำ 2 บาท เปลือกมะรุม 6 บาท แห้วหมู เปล้าน้อย เปล้าใหญ่ รางแดง จันทน์เทศ เปลือกมะตูม ก้านกัญชา บอระเพ็ด เปลือกโมกมัน หญ้าชันกาด สนเทศ สิ่งละ 1 บาท ระย่อมเท่ายาทั้งหลาย รวมตำผงละลายน้ำร้อนแทรกพิมเสน กินครั้งแรกหนัก 2 ไพ ถ้านอนไม่หลับให้ทวียาขึ้นไปถึง 1 สลึง”

สรรพคุณโดยย่อ: แก้โรคลมที่ทำให้กังวล เครียด นอนไม่หลับ

 

ข้อห้ามใช้

• ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีไข้ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

• ห้ามใช้ในผู้ที่ใช้ยาลดความดันโลหิต

 

11. “ตำรับยาอัมฤตโอสถ”  

ที่มาของตำรับ:แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม 2 พระยาพิศณุประสาทเวช ร.ศ. 126

สรรพคุณในคัมภีร์: “ขนานหนึ่งชื่ออัมฤตย์โอสถ แก้ลมไกษยทั้งปวงเอา สหัสคุณ 1 แก่นแสมทเล 1 รากส้มกุ้ง 1 ลูกมะตูม 1 ลูกมะแหน 1 ลูกพิลังกาสา 1 สมอเทศ 1 สมอไทย 1 โกฏเขมา 1 เทียนดำ 1 เทียนขาว 1 ลูกจันทน์ 1 ดอกจันทน์ 1 กระวาน 1 กานพลู 1 ดีปลี 1 ยาทั้งนี้เอาเสมอภาค เอาเปลือกหอยโข่ง 1 เปลือกหอยขม 1 เปลือกหอยแครง 1 เบี้ยผู้เผา 1 เอาสิ่งละ 3 ส่วน เอากันชา 10 ส่วน เอาพริกไทย 2 เท่ายาทั้งหลาย ตำผงกระสายยักย้ายใช้ให้ชอบโรคทั้งหลายเถิด”

สรรพคุณโดยย่อ: แก้ผอมแห้งแรงน้อย มึนตึง มือเท้าอ่อนแรง

 

ข้อห้ามใช้

• ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีไข้ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

 

12. “ตำรับยาไพสาลี”  

ที่มาของตำรับ:อายุรเวทศึกษา (ขุนนิทเทสสุขกิจ) เล่ม 2

สรรพคุณในคัมภีร์: “แก้สารพัดโรค ไส้เลื่อนกล่อน หืดไอ กุษฐัง เสมหะ ตามืด ตาฟาง หูหนวก หูตึง ลมสติมักหลงลืม เจ็บตะโพก จุกเสียด ลมสลักอก ขี้เรื้อน คุดทะราด เป็นฝีในเพดานและลำคอ ลมมักให้หาวเรอ ให้รากสะอึก ลมสะแกเวียน นอนไม่หลับ ให้ง่วงเหงาหาวนอน ลมปวดมวนในท้อง เป็นป้างเป็นจุกผามม้ามย้อย หงอย เพ้อ พูดมิชัด ”

สรรพคุณโดยย่อ: แก้โรคลม แก้หืดไอ มีเสมหะ

 

ข้อห้ามใช้

• ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีไข้ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

 

13. “ตำรับยาอไภยสาลี”  

ที่มาของตำรับ:เวชศึกษา แพทย์ศาสตร์สังเขป เล่ม 1, 2, 3 พระยาพิศณุประสาทเวช ร.ศ. 127

สรรพคุณในคัมภีร์: “แก้สารพัดลม 80 จำพวก แก้โลหิต 20 จำพวก แก้ริดสีดวง 20 จำพวก ยานี้กินได้ 3 เดือน หายโรคาพยาธิมิได้มีเลย อายุวัฒนะทั้งเกิดปัญญารู้หลักนักปราชญ์มากกว่าคนทั้งปวง ถ้าผู้ใดพบให้ทำกินวิเศษนัก ใครกินยานี้ดุจยาทิพย์นั้นแลฯ”

สรรพคุณโดยย่อ: แก้อาการจุกเสียดแน่น

 

ข้อห้ามใช้

• ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีไข้ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

 

14. “ตำรับยาแก้ลมแก้เส้น”  

ที่มาของตำรับ:เวชศาสตร์วัณ์ณณา เล่ม 5

สรรพคุณในคัมภีร์: “กินแก้ลมแก้เส้นแก้เมื่อยแก้เหน็บชาแก้ตีนตายมือตายหายดีนัก”

สรรพคุณโดยย่อ: แก้ลมในเส้น บรรเทาอาการมือเท้าชา อ่อนแรง

 

ข้อห้ามใช้

•  ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีไข้ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

 

15. “ตำรับยาทัพยาธิคุณ”  

ที่มาของตำรับ:คัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ เล่ม 2

สรรพคุณในคัมภีร์:”แก้กล่อน 5 ประการ ซึ่งให้จุกเสียดแลเป็นพรรดึก แก้ลมเป็นก้อนในอุทร ให้เจ็บทั่วร่างกาย เจ็บสะเอว มือเท้าตายกระด้างแลเมื่อยขบทุกข้อทุกลำ ขัดแข้งขา เจ็บทวารหนัก เบาพิการต่างๆ เจ็บศีรษะเวียนหน้าตา เจ็บไหล่ทั้งสอง ปากเปรี้ยว เสียงแหบแห้ง ขัดสีข้าง ขัดอก ท้องขึ้น กินอาหารไม่มีรส นอนไม่ใคร่หลับ โรคทั้งนี้เป็นเพราะเสมหะแห้ง บุรุษและสตรีเป็นเหมือนกัน”

สรรพคุณโดยย่อ: แก้อาการจุกเสียด ท้องผูกอุจจาระเป็นก้อนแข็งเจ็บ เมื่อยขบตามร่างกาย กินอาหารไม่รู้รส นอนไม่หลับ

 

ข้อห้ามใช้

•  ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีไข้ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

 

16. “ตำรับยาทาริดสีดวงทวาร และ โรคผิวหนัง”  

ที่มาของตำรับ:อายุรเวทศึกษา (ขุนนิทเทสสุขกิจ) เล่ม 2

สรรพคุณในคัมภีร์:”ใส่แก้ริดสีดวงทวารหนัก ใส่แก้โรคผิวหนังต่างๆ”

สรรพคุณโดยย่อ: ทาแก้ริดสีดวงทวารหนัก ทาแก้โรคผิวหนัง (เช่น เรื้อนกวาง เรื้อนมูลนก)

 

ข้อควรระวัง

•  ควรระวังการใช้กับผู้ที่แพ้ส่วนประกอบของตำรับ

 

และนี่คือ 16 ตำรับยาที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมที่เรานำมาฝากกัน จะเห็นได้ว่ากัญชามีสรรพคุณทางยาที่เป็นประโยชน์มากมาย สามารถใช้รักษาได้ทั้งภายใน ภายนอก อาการทั้งเฉียบพลัน และเรื้อรังได้ดีเลย จึงไม่แปลกที่กัญชาจะได้รับความนิยมและเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย สมุนไพรทุกชนิดมีประโยชน์หากใช้อย่างถูกต้อง เหมาะสม แต่ถ้าใช้อย่างผิดวิธี หรือปริมาณไม่เหมาะสมกับอาการจากประโยชน์ก็กลายเป็นโทษได้ กัญชาก็เช่นกันค่ะ 

 

กัญชาก็มีข้อควรระมัดระวัง และมีข้อจำกัดในการใช้ 

 

โดยหลักสำคัญห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีไข้ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

 

และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางโรคที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนในการรักษาร่วมกันมากๆ ดังนั้นการนำกัญชามาใช้ในการรักษาและบรรเทาอาการต่างๆ จะยังต้องใช้อย่างระมัดระวัง และอยู่ในการควบคุมจากแพทย์แผนไทยที่ผ่านการอบรม และมีความเชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะหากใช้ผิดวิธีจะทำให้เสพติดประสาทหลอน ลืมง่าย ความจำบางส่วนลดลง ปากแห้ง ทักษะการเคลื่อนไหวร่างกายบกพร่อง ตาแดง และรู้สึกหวาดระแวงหรือวิตกกังวล หรือ มีอาการที่ไม่พึ่งประสงค์ตามมาได้ค่ะ

 

ปุณรดายาไทยยินดีให้คำปรึกษาการใช้กัญชาในการรักษาอาการต่างๆ เพื่อความปลอดภัยของทุกคน แพทย์แผนไทยของเราเข้ารับการฝึกอบรบ และผ่านการทดสอบจนได้รับใบรับรองถูกต้อง ด้วยประสบการณ์เราจึงเชี่ยวชาญด้านสมุนไพร เราประยุกต์ใช้ศาสตร์การแพทย์แผนไทย ควบคู่กับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม จนกลายเป็นแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่เข้ากับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน หมอยินดีให้คำปรึกษาทุกอาการ พร้อมหาแนวทางรักษาที่เหมาะสมกับร่างกายของแต่ละคนมากที่สุดเสมอค่ะ

 

ปุณรดายาไทยเชี่ยวชาญด้านสมุนไพร และการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ออกแบบการรักษาเฉพาะบุคคลเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดค่ะ หากมีข้อสงสัย สามารถปรึกษาปุณรดายาไทยได้นะคะ ปรึกษาฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ

 

สามารถปรึกษากับพวกเรา Poonrada Yathai ได้เสมอนะคะ (ปรึกษาฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ)
LINE ID: @Poonrada
TEL: 086-955-6366, 091-546-9415


ทีมแพทย์แผนไทยปุณรดา

สุรดา เลิศเกศราธรรม

ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร

"สมุนไพร คือ ของขวัญจากธรรมชาติ เราจึงตั้งใจมอบสมุนไพรที่ดีที่สุด ให้ถึงมือคุณ"

พท.ป.เอกพล ศิริพงษ์เวคิน

แพทย์แผนไทยประยุกต์

" ใส่ใจทุกความต้องการ ดูแลเหมือนคนในครอบครัว "

นศ.พท.ป. สุพัชชา พรมน้ำ

แพทย์แผนไทย

" ความมั่งคั่งที่แท้จริง จะเกิดขึ้นได้ เมื่อเรามีสุขภาพกายและใจที่ดี สมดุล แข็งแรง "


ปุณรดา ยาไทย
แพทย์แผนไทยที่อยู่ใกล้คุณที่สุด

ท่านจะได้รับทราบโปรโมชั่นพิเศษก่อนใครทาง LINE@ พร้อมบริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์แบบส่วนตัวฟรี ทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น.

ข้อความถึงร้าน


× คุณได้เพิ่มสนค้าลงตะกร้า ดูสินค้าในตะกร้า