หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่กำลังอยู่ในช่วงของ “วัยทำงาน” ไม่ว่าจะสาขาอาชีพใดก็ตาม บอกได้เลยว่าคุณโชคดีมากๆ ค่ะ เพราะคุณกำลังจะได้รับประโยชน์จากบทความต่อไปนี้แบบเต็มๆ ไม่มีกั๊ก!
เมื่อพูดถึง “โรคที่มักเกิดกับวัยทำงาน” ต้องขอออกตัวก่อนเลยว่า มีด้วยกันหลายโรคมาก ๆ และเราจะขอคัดมาเฉพาะโรคที่พบได้บ่อยที่สุด 8 โรคก่อนนะคะ ซึ่งคุณจะได้ทราบทั้งลักษณะอาการ สาเหตุ วิธีรักษาและการป้องโรคทั้ง 8 โรค อย่างละเอียด ส่วนจะมีโรคยอดฮิตอะไรบ้างนั้น ตามมาดูกันเลยค่ะ
6. โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน
7. โรคทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ หอบหืด
มาต่อกันด้วยโรคที่ 7 โรคทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ หอบหืด
โลกยิ่งเจริญขึ้น คนป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ และ หอบหืด ก็พบมากขึ้นตามไปด้วย เชื่อว่าเป็นเพราะโรงงานต่าง ๆ สร้างมลพิษ และ ผลิตสารเคมีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเพิ่มสารแพ้ในอากาศมากขึ้น รวมถึงมีความนิยมเลี้ยงสัตว์ที่มีขนเป็นเพื่อนมากขึ้น ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ และ หอบหืดได้ทั้งสิ้น
สำหรับคนวัยทำงาน ที่พบว่าป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ก็มีเปอร์เซ็นต์ที่สูงมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากการทำงานร่วมสถานที่เดียวกันกับคนหมู่มาก ด้วยสารพัดเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมาจากอากาศภายนอกสู่ภายในสำนักงาน และไปวนเวียนอยู่ในเครื่องปรับอากาศ ย่อมเป็นสาเหตุให้เกิดโรคทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ หอบหืด และปอดบวมได้
โรคภูมิแพ้ คือ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นของร่างกายจากภูมิคุ้มกันที่แสดงออกมากเกินไป เมื่อพบสารแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย จนทำให้เกิดอันตราย ขณะผู้ที่ไม่เป็นภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะไม่มีปฏิกิริยาต่อสารเหล่านี้ สารแปลกปลอมที่กระตุ้นภูมิแพ้ เรียกว่า Allergen ซึ่งมีมากมายในสิ่งแวดล้อม เช่น เกสรดอกไม้ ฝุ่นไร เชื้อรา ขนแมว รังแคสัตว์ ชิ้นส่วนของแมลง พยาธิ ยา อาหาร ผงชูรส วัคซีน สารเคมีต่าง ๆ ฮอร์โมน สิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ แม้แต่ความร้อน ความหนาว ความเปียกชื้น ควันบุหรี่ สีเครื่องสำอาง ต้นไม้ ใบไม้ หรือ โลหะ เช่น นิกเกิลก็ก่อภูมิแพ้ได้
โดยธรรมชาติแล้วระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์มีหน้าที่ต่อต้านสิ่งแปลกปลอม (Antigen) ดังนั้น เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันก็จะสร้างภูมิต้านทาน (Antibody) ต่อสารแปลกปลอมนั้น ๆ เช่น ภูมิต้านทานชนิด lgM, IgG, lgA, IgD ซึ่งมีหน้าที่จัดการสารแปลกปลอมไม่ให้ทำปฏิกิริยาใด ๆ ต่อร่างกาย
แต่สำหรับสารแปลกปลอมที่กระตุ้นภูมิแพ้ (Allergen) ภูมิคุ้มกันจะเข้าไปจับชนิดนั้น และ ปล่อยภูมิต้านทานชนิดหนึ่ง (IgE) ออกมา จากนั้นภูมิต้านทาน (IgE) จะไปรวมตัวกับเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ชื่อ Mast cell และ Basophils เกิดการแตกของเซลล์ จึงมีการปล่อยสารเคมีที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ออกมา เช่น ฮีสตามีน (Histamine), โปรตีเอสส์ (Proteases), คีโมไดนส์ (Chemokines), เฮปาริน (Heparine), พรอสตาแกลนดินส์ (Prostaglandins), ลิวโคทรินส์ (Leukotrienes), ทรอมบ็อกแซนส์ (Thromboxanes) ฯลฯ ซึ่งล้วนก่ออาการอักเสบของเนื้อเยื่อ และ หลอดเลือด ทำให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ และหอบหืด หากมีปฏิกิริยารุนแรงอาจเกิดอาการช็อกจากภูมิแพ้ เรียกว่า Anaphylactic Shock ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
ทำไมบางคนเป็นภูมิแพ้แต่อีกคนไม่เป็น เชื่อว่าเพราะบางคนมีปัจจัยเสี่ยงกว่าอีกคน ดังต่อไปนี้
- หากพ่อและแม่ของคุณไม่เป็นโรคภูมิแพ้ และ หอบหืด คุณมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ และ หอบหืด เพียงร้อยละ 15
- หากพ่อ หรือ แม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคภูมิแพ้ และ หอบหืด คุณมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ และ หอบหืด ร้อยละ 30-48
- หากทั้งพ่อและแม่เป็น โอกาสที่คุณจะเป็นภูมิแพ้ และ หอบหีด ร้อยละ 60-70
หากคุณไม่สัมผัส Allergen เป็นอันว่าคุณย่อมไม่เกิดอาการแพ้ พบว่ายิ่งสัมผัสตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา หรือสัมผัสซ้ำ ๆ หรือ เจอ Allergen หลายๆ อย่าง คุณยิ่งมีโอกาสเป็นมาก และ เป็นอย่างรุนแรง
หากคุณเป็นคนแข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารต้านอนุมูลอิสระ ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนเพียงพอ ไม่เครียด คุณอาจจะมีโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้ และ หอบหืดน้อยลง
1. โรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ เช่น ภูมิแพ้จมูกอักเสบ (Allergic rhinitis) ไข้ละอองฟาง (Hay fever) หรือ หอบหืด
2. โรคภูมิแพ้ผิวหนัง เช่น ลมพิษ ผื่นคัน ผื่นมีน้ำเหลืองย้อยที่ผิวหนัง (Eczema dermatitis)
3. โรคภูมิแพ้ที่ตา (Allergic conjunctivitis)
4. แพ้รุนแรงจนช็อก (Anaphylactic shock)
5. แพ้อาหาร
1.1 เป็นบางจังหวะ หรือ บางฤดู มักเกี่ยวข้องกับ ลมฟ้า อากาศ และ สารแปลกปลอมที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ ซึ่งมีมากในช่วง นั้น ๆ เช่น ฤดูร้อนที่มีดอกไม่บาน มีเกสร หรือ มีละอองฟางมาก จึงชื่อไข้ละอองฟาง
1.2 เป็นทั้งปี มักเกิดจากสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ ซึ่งมีอยู่ภายในบ้าน หรือ ในที่ทำงาน เช่น ไรฝุ่นเชื้อราจากเครื่องปรับอากาศ ชิ้นส่วนแมลง ขนสัตว์ รังแคสัตว์ ฯลฯ
อาการมีดังนี้
• คัดจมูก คันในรูจมูก คันรูหู คันในคอ
• คันตา
• มีน้ำมูกใสๆ ไหล
• จามบ่อย ๆ
• หายใจไม่สะดวก
•มีเสลดในคอเป็นประจำ
เป็นอาการภูมิแพ้ของระบบหายใจ มีผลทำให้หลอดลมหดเกร็ง หายใจเข้า-ออกไม่สะดวก
อาการมีดังนี้
• หายใจไม่สะดวก
• แน่นหน้าอก
• หายใจหอบ
• หายใจมีเสียงดังวี้ด
• ไอมีเสมหะ
ซึ่งส่วนหนึ่งสัมผัสทางผิวหนัง บางส่วนเกิดจากการสูดดมเข้าไปทางลมหายใจ หรือการรับประทาน ซึ่งพบบ่อยในอาหารทะเล นมวัว และ ยาต่าง ๆ โดยเฉพาะเพนนิซิลลิน หรือ ซัลฟา
อาการมีดังนี้
• คันตามผิวหนัง
• ขึ้นผื่นตามผิวหนัง
• ผื่นผิวหนังมีน้ำเหลืองย้อย
• หน้า หรือ แก้ม เป็นผื่นแดง มีน้ำเหลือง มีสะเก็ด (มักเป็น กับเด็ก)
• ผิวหนังบวมเป็นวงแดงหนา แบบผื่นลมพิษ
• เป็นผื่นวงกลมสีดำ คัน เจ็บ มักขึ้นตามเนื้ออ่อน เช่น โคนขา ต้นคอ รักแร้ เวลาแพ้แต่ละครั้งผื่นจะขึ้นที่เดิม (Fixed drug eruption)
มีภูมิแพ้ผิวหนังอย่างหนึ่งที่เกิดจากการสัมผัสสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ได้ เรียกว่าผื่นผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส (Con tact dermatitis) ไม่เกี่ยวข้องกับ lgE แต่เกี่ยวข้องกับภูมิต้านทานชนิดเซลล์ ซึ่งเหมือนตั้งโปรแกรมไว้ คือครั้งแรกจะไม่แพ้ แต่จะแพ้ถ้าสัมผัสครั้งที่สอง เช่น แพ้เครื่องประดับ นาฬิกา ผงซักฟอก เป็นต้น
อาการมีดังนี้
• ใต้เปลือกตามีสีแดงเป็นเม็ดตุ่มเล็ก ๆ มีอาการคัน
• ตาขาวมีสีแดง คันจนต้องขยี้ตาบ่อย ๆ
• น้ำตาไหลตลอดเวลา
• เยื่อบุตาบวม
เกิดจากอาการแพ้ที่ลามไปหลายๆ อวัยวะของร่างกายในคราวเดียวกัน อาจเป็นได้ทั้งจากการสัมผัสสารกระตุ้นภูมิแพ้แบบ รับประทาน แบบฉีด การสูดดม หรือทางผิวหนัง เช่น แมลงสัตว์กัดต่อย ซึ่งทำให้เกิดเส้นเลือดขยายทั่วร่างกาย อาเจียน เวียนศีรษะ ความดันโลหิตตก หายใจหอบเหนื่อยจากหลอดลมตีบ คอบวม จนอาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้
โรคภูมิแพ้ที่เป็นมาก มักมีอาการไม่จำเพาะเจาะจงร่วมด้วย (Systemic symptom) เช่น ปวดหัว ตัวร้อน เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว ปวดหลัง เวียนศีรษะ มึนงง ขี้หลงขี้ลืม เหน็บชา นอนไม่หลับ และ มีอาการทางจิตใจ ได้แก่ เครียด วิตก ซึมเศร้า ย้ำคิดย้ำทำา ไม่มั่นใจ กลัวการเข้าสังคม ฯลฯ
1. สังเกตว่าตนเองแพ้อะไร ก็หลีกเลี่ยงสิ่งนั้น
2. ดูแลสถานที่อยู่อาศัย และ ที่ทํางานให้ปราศจากสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ ดังนี้
• ทำความสะอาดเช็ดถูเป็นประจำ
• กวาดหยากไย่ ดูดฝุ่น
• ล้างเครื่องปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอ
• ดูแลที่นอนไม่ให้สะสมฝุ่น นำออกมาตากแดด หรือ ซักทุกเดือน หรือเลือกที่นอนที่สะสมฝุ่นน้อย
• เปิดหน้าต่าง หรือมีเครื่องดูดอากาศให้อากาศไหลเวียนได้โดยสะดวก
• ดูแลไม่ให้ห้องอับชื้น
• ไม่ปูพรม
• ไม่มีเฟอร์นิเจอร์มากชิ้นเกินความจำเป็น
• ไม่เลี้ยงสัตว์มีขน เช่น หมา แมว หนู ฯลฯ หากเลี้ยงต้องแยกส่วน และ ดูแลขน หมัด เห็บให้ดี
• เก็บเศษอาหารให้ดี ไม่ให้มีแมลงสาบมาเพ่นพ่าน
3.หลีกเลี่ยง หรือ ระวังการรับประทานอาหารที่อาจทำให้เกิดภูมิแพ้
อาหารที่ดีควรสด ไม่มีขั้นตอนการปรุงมากนัก ไม่ใส่ สารกันบูด หรือ ผงชูรส หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง อาหารค้างคืน
4. เลือกอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ
เชื่อว่าสารต้านอนุมูลอิสระทำให้เซลล์แข็งแรง และ ลดอาการภูมิแพ้ เช่น อาหารที่ มีวิตามินซี วิตามินเอ เบต้าแคโรทีน วิตามินอี ธาตุสังกะสี ซีลีเนียม ได้แก่ พืชผักผลไม้สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีส้ม สีม่วง เช่น แคร์รอต กะหล่ำปลี ผักใบเขียว สตรอเบอร์รี่ มะละกอ มะม่วงดิบ มะม่วงสุก ธัญพืช ข้าวซ้อมมือ เมล็ดถั่วต่าง ๆ ยีสต์อาหารทะเล ชาเขียว กระเทียม เป็นต้น
5. เสริมจุลินทรีย์ชนิดดี แล็กโตบาซิลไล
ซึ่งมักเติมในนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ต และอินูลิน ซึ่งเป็นอาหารของจุลินทรีย์ชนิดดี เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงของภูมิต้านทาน
6. ไม่รับประทานอาหารเสริมมากเกินไป เพราะอาจจะกระตุ้นภูมิแพ้
7. ออกกำลังกาย
ออกกำลังกายตามที่ชอบ ตามความเหมาะสม เป็นประจำ อย่างน้อยอาทิตย์ละ 4 วัน วันละครึ่งชั่วโมง
8. การลดความเครียด
โดยการนั่งสมาธิ โยคะ รำกระบอง ฟังเพลง ทำงานอดิเรกที่ชอบ หรือ อบตัวด้วยสมุนไพร ก็ช่วยผ่อนคลาย และ ลดอาการภูมิแพ้ได้
9. รักษาตามแนวแพทย์ทางเลือก แพทย์แผนไทย
เช่น ใช้สมุนไพร ฝังเข็ม กดจุด นวด อดอาหารสวนล้างลำไส้ เสริมปราณ ในกรณีนี้ควรต้องปรึกษาผู้รู้ก่อนปฏิบัตินะคะ
ข่าวร้ายคือ เราไม่สามารถรักษาโรคภูมิแพ้ให้หายขาด แต่สามารถบรรเทาให้อาการทุเลาลงได้ และถึงแม้ว่ารักษาไม่หายขาด แต่หากมีอาการแพ้ หรือ สงสัยว่าแพ้บางอย่าง คุณควรไปพบแพทย์เพื่อ
1. ตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคภูมิแพ้หรือไม่ ถ้าเป็น เกิดจากสาเหตุอะไร
ในกรณีนี้ บางครั้งคุณก็อาจจะไม่สามารถหาได้ว่าแพ้สารชนิดไหน หรือ แพ้อะไร หรือ บางคนก็เกิดอาการแพ้ต่อสารมาก ชนิด กระทั่งไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาได้
2. รักษาอาการภูมแพ้ ตามวิธีที่แพทย์เห็นว่าสมควร
1. ในกรณีที่เกิดอาการฉุกเฉิน แพทย์ต้องรักษาตามอาการ
เช่น รักษาอาการช็อก ให้สารน้ำ ให้สารเพิ่มความดันโลหิต ให้สารต้านภูมิแพ้ ยาขยายหลอดลม ใช้เครื่องช่วยหายใจ ฯลฯ
2. ในกรณีที่ไม่ฉุกเฉิน แพทย์อาจพิจารณารักษาอาการภูมิแพ้ดังนี้
2.1. ใช้ยาแก้แพ้ สารต้านฮีสตามีน และสารลดการคั่ง และ บวม (Antihistamine and Decongestants)
เช่น ซีพีเอ็ม หรือ คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine), ไฮดรอกซีซิน (Hydroxyzine), ไตรโพลิดีน (Tripolidine), สูโดอีฟีดรีน (Pseudoephedrine) ฯลฯ
ยาเหล่านี้ได้ผลดี แต่มีผลข้างเคียงคือ ง่วงนอน ซึม ปากแห้ง และ ออกฤทธิ์ไม่นาน หรือจะเลือกใช้ยาแก้แพ้กลุ่มใหม่ซึ่งไม่ง่วงนอน หรือ ง่วงน้อย ออกฤทธิ์นาน ได้แก่ ลอราทาดีน (Loratadine), เซทรีซีน (Cetrizin), เฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) ฯลฯ
2.2. ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ มีทั้งชนิดกิน ฉีด ทา พ่น หยอดตา หยอดจมูก สามารถแก้อาการภูมิแพ้ที่รุนแรงได้ผลดี แต่สาร สเตียรอยด์เองก็มีผลข้างเคียง เช่น ผิวหนังบางลง กระดูกพรุน บวมน้ำ ความดันโลหิตสูง ติดเชื้อง่าย ทำให้เป็นเบาหวาน หรือ โรคเบาหวานกำเริบ
2.3. ใช้ครอมโมลีน โซเดียม (Crommolyn Sodium) สารป้องกันภูมิแพ้ โดยป้องกันภูมิต้านทานชนิด IgE ไม่ให้ทำปฏิกิริยา กับเม็ดเลือดขาวที่ชื่อ Mast cell จึงไม่เกิดอาการภูมิแพ้
2.4. รักษาด้วยการสร้างภูมิคุ้มกัน (Immunotherapy) ด้วยการทดสอบว่าแพ้สารไหน แล้วค่อยๆ ฉีดสารนั้นเข้าร่างกาย เพิ่มขนาดทีละเล็กละน้อย จนร่างกายเคยชินไม่แพ้สารนั้นอีก หรือ ใช้ยาที่กระตุ้นภูมิต้านทานให้แข็งแรง เช่น ยา Lavaesole
คลิกอ่านโรคก่อนหน้านี้ <<< โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน
คลิกอ่านโรคต่อไป >>> โรคนิ้วล็อก
พ.ญ.ชัญวลี ศรีสุโข. 8 โรคร้ายของวัยทำงาน. พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2552.
สามารถปรึกษากับพวกเรา Poonrada Yathai ได้เสมอนะคะ (ปรึกษาฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ)
LINE ID: @Poonrada
TEL: 086-955-6366, 091-546-9415
ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร
"สมุนไพร คือ ของขวัญจากธรรมชาติ เราจึงตั้งใจมอบสมุนไพรที่ดีที่สุด ให้ถึงมือคุณ"
แพทย์แผนไทย
" ความมั่งคั่งที่แท้จริง จะเกิดขึ้นได้ เมื่อเรามีสุขภาพกายและใจที่ดี สมดุล แข็งแรง "